วัชรธรรมสถาน ปัจจุบันเป็นของหลวงตาพระมหาบัววัดป่าบ้านตาด การดำเนินงานทุกอย่างทางคณะกรรมการได้กราบเรียนให้ทางวัดทราบทั้งกิจกรรมและบัญชีรับ/จ่าย และขออนุญาตในกรณีใดๆ ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจจากทางวัดป่าบ้านตาดเสมอ

การขอใช้สถานที่

กรรมการวัชรธรรมจะต้องจัดทำแผนการใช้สถานที่เสนอมูลนิธิฯ ทุก 6 เดือน เพื่อขออนุมัติและทำประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทราบหลักสูตรหลัก ผู้สมัครไม่เสียค่าใช้จ่าย

การขอใช้สถานที่ ของกลุ่มบุคคลภายนอก (นอกหลักสูตร)
  • ให้ทำหนังสือขอใช้สถานที่ถึงมูลนิธิ ก่อนการใช้งานอย่างน้อย 2 เดือน พร้อมรายละเอียดรายชื่อผู้อบรม การใช้งานทั้งหมด ทางมูลนิธิจะแจ้งการอนุมัติให้ทราบก่อนวัน ขอใช้อย่างน้อย 1 เดือน

  • ผู้ขอใช้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายทั่วไป ต่อคน 500-600 บาทต่อวัน และค่า ของเสียหาย ของใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วแต่ความเหมาะสมที่มูลนิธิกำหนด

  • ผู้ใช้สถานที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัชรธรรมสถาน เช่น การสมัคร การใช้ที่พัก กุฏิ หอธรรม ห้องน้ำ โรงอาหาร โรงครัว ฯลฯ ในกรณีที่ผู้ขอให้สถานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เจ้าหน้าที่สามารถตักเตือน และถ้ายังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทางมูลนิธิฯสามารถยกเลิกการใช้สถานที่ได้ทุกเวลา

  • ผู้ขอใช้สถานที่จะต้องติดต่อ ธรรมะบริกรของวัชรธรรมสถาน ช่วยดูแลตลอดการปฏิบัติอย่างน้อย 2 ท่าน และ มีผู้ประสานงานจากผู้ขอใช้อีก 1-2 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมที่วัชรธรรมมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • ระเบียบการเข้าปฏิบัติ ณ วัชรธรรมสถาน (การปฏิบัติเดี่ยวนอกหลักสูตรอบรม)
  • ทำหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ (หลังจากศึกษาระเบียบปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว) ก่อนการใช้งานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ + ต้องเคยผ่านการอบรมที่ธรรมสถานมาแล้วอย่างน้อย3-5 ครั้ง โดยไม่เคยทำผิดระเบียบใดๆ การสมัครให้สมัครผ่าน e-mail: vacharadham@gmail.com

  • เมื่อรับ e–mail ตอบรับแล้ว ผู้สมัครค่อยส่ง e–mail ยืนยันกลับมายังมูลนิธิก่อน การปฏิบัติอย่างน้อย 1 สัปดาห์ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าปฏิบัติได้ต่อเนื่องไม่เกิน 2 สัปดาห์ พระภิกษุสงฆ์ สามารถเข้าพักได้ต่อเนื่องไม่เกิน 1 เดือน ยกเว้น จำพรรษาจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

  • การลงทะเบียนเข้าพักจะต้องแจ้งให้ทราบว่าจะเข้าและออกเมื่อใด เพราะขณะเข้าพักปฏิบัติจะห้ามติดต่อพูดจากับบุคคลภายนอกอย่างเด็ดขาด และ ห้ามออกนอกบริเวณวัชรธรรมสถานในกรณีที่จะต้องมีธุระออกไปนอกเขตธรรมสถาน ให้ถือว่าการเข้าพักปฏิบัติ สิ้นสุดและจะต้องลงทะเบียนออกจากธรรมสถานทันที ในกรณีมีเหตุจำเป็น ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน

  • ขณะอยู่ปฏิบัติ ณ ธรรมสถาน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเข้ารับการอบรม เช่นการห้ามคุย ห้ามใช้โทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนการรับประทานอาหาร ทางธรรมสถานจะจัดปิ่นโตให้วันละ 1 มื้อตอนเช้า โดยผู้ปฏิบัติจะเสียค่าใช้จ่ายค่าอาหารเอง (ประมาณ วันละ 50-100 บาทต่อคน) ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ของอย่างประหยัดเท่าที่จำเป็น และต้องดูแลรักษาความสะอาดของ วัชรธรรมสถานเป็นประจำวัน

  • การขอเข้าพักครั้งต่อไป จะต้องห่างจากการออกจากที่พักครั้งก่อน อย่างน้อย 1 เดือน บุคคลทั่วไปจะสามารถเข้าปฏิบัติเดี่ยวได้คนละไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี พระภิกษุสงฆ์ จะสามารถเข้าปฏิบัติเข้มได้ ไม่เกิน 4 เดือนต่อปี สำหรับอยู่ชั่วคราว

  • การเข้าพักของผู้ที่เคยมาปฏิบัติเดี่ยวเป็นครั้งต่อไป จะไม่อนุญาตให้ใช้ห้องเดิมเพื่อไม่ติดยึดในสถานที่และไม่อนุญาตให้เก็บของใช้ส่วนตัวไว้ในวัชรธรรมสถานหลังออกปฏิบัติแล้ว

  • การลงทะเบียนออกจากวัชรธรรมสถาน ต้องตรวจตราความเรียบร้อยบริเวณที่เข้าพักคืนของใช้กับเจ้าหน้าที่ และเก็บอุปกรณ์ไว้ในที่ ๆเหมาะสมตามเดิมให้เรียบร้อย ถ้ามีสิ่งใดชำรุดเสียหาย ผู้ปฏิบัติต้องแจ้งและจัดทำซ่อมแซมให้ใช้งานตามเดิมให้เรียบร้อยโดยผู้ปฏิบัติควรรับผิดชอบเอง

  • พระภิกษุที่จะเข้าพักระยะยาว จะต้องมีพ่อแม่ครูจารย์ในสายพระป่ากรรมฐานรับรอง และ ทำรายงานให้เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาดทราบในการเข้าพัก รวมทั้งเมื่อออกนอกสถานที่เกิน 7 วันด้วยเช่นกัน
  • การรับบริจาค
  • ใบอนุโมทนาบัตร วัชรธรรมสถาน ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ผู้ที่ประสงค์ขอใบอนุโมทนาบัตร กรุณาบริจาคปัจจัยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่และรับใบรับเงินชั่วคราว และ ลงนามชื่อพร้อมที่อยู่อย่างชัดเจนไว้

  • ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อใช้ในการอบรมครั้งต่อไป แต่ในการอบรมผู้ปฏิบัติควรยินดีรับทานที่ผู้อื่นบริจาคให้ด้วยความเต็มใจ

  • ผู้เข้ารับการอบรมควรคิดเสมอว่าได้รับการบริจาคจากบุคคลอื่นที่เป็นกัลยาณมิตรซึ่งเสียสละปัจจัยให้เกิดการอบรมในครั้งนี้ขึ้น รวมทั้งแม่ครัวและเจ้าหน้าที่ทุกๆท่านที่ช่วยกันดูแลท่าน ถึงแม้ท่านจะสละทรัพย์ร่วมสมทบทุน แต่กรุณาจำไว้ว่าทุนนั้นเป็นไปเพราะท่านเห็นประโยชน์ของธรรมทานนี้และต้องการให้กิจกรรมนี้ดำเนินต่อไป มิใช่เป็นการตอบแทนค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมของท่านแต่อย่างใดเลย

  • กองทุนวัชรธรรมตั้งขึ้นเพื่อรับบริจาคจากผู้ปฏิบัติธรรมที่ต้องการร่วมเป็นเจ้าภาพในการอบรมแต่ละครั้งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ขณะอบรม ปัจจัยถวายพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เป็นต้น (ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆที่กองทุนมิอาจจ่ายได้ให้พิจารณา ขอสนับสนุนจากมูลนิธิฯ เช่น การก่อสร้างและการบูรณะซ่อมแซมอาคารต่างๆ )

  • ผู้ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพปัจจัยค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติแต่ละครับสามารถบริจาคได้โดยโอนเงิน 35,000บาทเข้าบัญชี วัชรธรรมสถาน ธนาคารทหารไทย สาขา รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 040-2-33624-2
  • หน้าที่ธรรมบริกร

    เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรม ณ วัชรธรรมสถานมาแล้วสามารถเป็นตัวอย่างในการประพฤติปฏิบัติ ที่ดีและเต็มใจที่จะช่วยผู้ปฏิบัติในรุ่นอื่นๆต่อไป มีหน้าที่ควบคุม ดูแล กฎ ระเบียบต่างๆของวัชรธรรมสถานตลอดระยะเวลาการอบรมเพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติที่ดี และ สร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้อบรมในการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ช่วยดูแลความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของอาคารสถานที่ของธรรมสถาน

    ตัวอย่างงานของธรรมะบริกร
  • ปลุกผู้อบรมให้ตื่นนอนตามเวลาและเปิดเสียงพ่อแม่ครูจารย์หลังเสียงระฆัง

  • คอยดูแลการใช้อาคารสถานที่ให้เรียบร้อยและประหยัด เช่น การเปิด/ปิด น้ำ ไฟ พัดลม แอร์

  • ดูแลให้ผู้อบรมเข้าปฏิบัติธรรมตามตารางที่กำหนด และ เตือนผู้อบรมให้ทราบว่าการปฏิบัตินั้นพึงกระทำตลอดเวลาตั้งแต่รับพระกรรมฐาน มิใช่คิดว่าทำแต่เฉพาะอยู่ในห้องปฏิบัติ (ผู้อบรมควรกำหนดรู้ในกายและจิตตลอดเวลาการอบรมทุกขณะ มิว่าจะกระทำการใดๆ เช่นการ เดินกลับ ที่พัก ขณะทานอาหาร ขณะอยู่ในห้องพัก ขณะทำความสะอาด ฯลฯ)

  • แนะนำการประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะสม เช่น การทำความสะอาดห้องพัก ห้องน้ำ อาคารสถานที่ โดยไม่กล่าววาจาและ ควร สำรวม กาย วาจาทุกขณะ ไม่นำอาหารเข้าไปในห้องพัก / หอธรรม การสื่อสารกับผู้อบรมควรใช้การเขียนแทนการพูด และปฏิเสธการสนทนาใดๆ (ปัญหาการปฏิบัติ ให้ผู้ปฏิบัติเขียนถามกับพระอาจารย์ผู้สอนขณะถามตอบปัญหาธรรมหรือขอปรึกษาโดยตรง มิใช่กับธรรมะบริกร)

  • ในกรณีฉุกเฉินให้ปรึกษากับผู้อำนวยการอบรมหรือหัวหน้าธรรมะบริกรและเจ้าหน้าที่วัชรธรรมสถาน มูลนิธิดวงแก้ว เพื่อการปฏิบัติให้เหมาะสมถูกต้องต่อไป

  • ทำรายงานให้ผู้จัดการวัชรธรรมสถาน อาจารย์ผู้สอน และบันทึกความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมของผู้เข้าอบรมที่จำเป็น เช่นการประพฤติไม่เหมาะสม ไม่สำรวม คุยเล่น ความตั้งใจ จริงจังเป็นพิเศษ ปัญหาสุขภาพฯลฯ มอบให้กับเจ้าหน้าที่ธรรมสถาน เพื่อประเมินผู้รับการอบรมทุกครั้งสำหรับการ คัดเลือกผู้สมัครในครั้งต่อไป (วัชรธรรมสถานจะได้เป็นที่เหมาะสมในการปฏิบัติของผู้ตั้งใจจริงต่อไป)

  • รับผิดชอบลงนามตรวจนับปัจจัยรับบริจาคในการอบรมร่วมกันและถวายปัจจัยแด่พระอาจารย์

  • ร่วมสรุปและประเมินผลการอบรมในแต่ละครั้งกับกรรมการบริหารวัชรธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาวัชรธรรมสถานให้ดียิ่งขึ้น

  • ในกรณีมีข้อสงสัยในการบริหารจัดการให้สอบถามที่ปรึกษาวัชรธรรมและยึดแบบอย่างของพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานเป็นหลัก
  • กฎระเบียบระหว่างอบรม

    นโยบายของวัชรธรรมสถานคือ “การดูแลช่วยเหลือร่างกายเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดความสุขสงบต่อเขาได้ เราควรรักษาจิตใจของเขาให้มีคุณธรรม” ศีลธรรมประเสริฐกว่า ดังนั้นควรวางธุระในหน้าที่การงานไว้ด้านนอก เมื่อเข้ามาอยู่ ณ ที่แห่งนี้แล้ว ควรให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจตัวเองอย่างที่สุด เน้นการพัฒนาจิตใจด้วยการอยู่อย่างสันโดษและไม่รบกวนผู้ปฏิบัติท่านอื่น กรุณาถอดยศถาบรรดาศักดิ์และตัวตนของท่านออก ผู้ปฏิบัติทุกท่านมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ตามธรรมวินัยในพุทธศาสนานี้

    ระเบียบทั่วไป
  • จอดรถไว้ด้านหน้าบริเวณต้นไม้ ผู้เข้าอบรมต้องนำของใช้ส่วนตัวติดตัวไปลงทะเบียน เพราะจะไม่อนุญาตให้กลับมาที่รถอีกจนกว่าจะจบหลักสูตรการอบรม

  • ประตูรั้วจะปิดไว้ตลอดเวลาการปฏิบัติ หากมีผู้มาส่งควรกลับทันทีหลังจากมาส่งแล้ว

  • ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมที่โรงอาหาร และ รับอุปกรณ์เครื่องนอนไปเก็บที่ห้องพัก เวลาลงทะเบียน 08.00น.-09.00น. ไม่ควรมาลงทะเบียนสาย

  • หากลืมนำของใช้ส่วนตัวใดๆ มาเช่น ชุดขาว สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หรือยา สามารถขอเบิกได้ที่อาคารสำนักงาน

  • ห้องสมุดจะเปิดให้ยืมได้เฉพาะผู้มาปฏิบัติเดี่ยว ส่วนผู้ที่มาปฏิบัติเป็นกลุ่มตามหลักสูตรไม่ควรอ่านหนังสือในระยะเวลาอบรม ยกเว้นวิทยากร หรือพระอาจารย์วิปัสสนาเป็นผู้มอบให้หรือแนะนำ
  • ผู้เข้ามาอบรมต้องถือศีล 8
  • ห้ามฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์

  • ห้ามลักทรัพย์ ยิบถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้

  • อพราหมจาริยา คือไม่ผิดพรหมจรรย์ ไม่ถูกต้องเพศตรงกันข้าม

  • ห้ามพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

  • ห้ามดื่มสุราสิ่งมึนเมา-กาแฟ –ยาเสพติด

  • ห้ามรับประทานอาหารหลังยามวิกาล คือหลังเที่ยงวันถึงเช้าวันใหม่

  • ห้ามลูบไล้ร่างกายด้วยของหอม -แป้งห้ามทัดดอกไม้-เครื่องประดับและ ฟ้อนรำฟังเพลง

  • ห้ามนั่งนอนในเตียงสูงหรือเบาะ-ฟูกที่สูง-นุ่มสบาย
  • หมวดการรับประทานอาหาร
  • โรงอาหารจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะมีน้ำปานะไว้บริการสำหรับผู้ถือศีล 8 ซึ่งไม่สามารถทานอาหารได้หลังเที่ยงวันถึงพระอาทิตย์ขึ้นในวันใหม่ หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเป็นกรณีพิเศษ

  • เวลาในการรับประทานอาหารคือ 07.00 น. สำหรับมื้อเช้า และ 11.00 น. สำหรับมื้อเที่ยง ควรนั่งแยกโต๊ะชาย-หญิง เมื่อเข้ามาในโรงอาหารแล้วควรทยอยเรียงนั่งกันไปตามลำดับ ไม่ควรนั่งกระจัดกระจายไปตามใจชอบ ( ยกเว้นในบางหลักสูตรจะรับประทานอาหารมื้อเดียว ตอนเช้า 07.00 )

  • เมื่ออยู่ในโต๊ะอาหารแล้วไม่ควรชวนกันคุย พึงระลึกเสมอว่าเราอยู่คนเดียว ปฏิบัติคนเดียว ไม่รับรู้เรื่องผู้ใด แต่ควรมีน้ำใจช่วยเหลือกัน เช่น ช่วยรินน้ำ ตักข้าว เลื่อนอาหารให้กัน

  • น้ำปานะที่มีบริการให้ควรระมัดระวังว่าส่วนใดสำหรับดื่มก่อนเที่ยง และส่วนใดสามารถดื่มได้หลังเที่ยง ไม่ทานอาหารหลังเที่ยงวันถึงพระอาทิตย์ขึ้นของวันใหม่

  • ไม่นำอาหาร นม ของขบเคี้ยวออกจากโรงอาหาร และ/หรือนำเข้าไปรับประทานในที่พัก/ในอาคาร เพราะอาจจะทำให้หนู แมลงสาบเข้าไปอาศัยในที่พักเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และ ลำบากต่อการจัดการทีหลังได้ และเป็นการรบกวนผู้อื่นอีกด้วย
  • หมวดการใช้สิ่งของและอาคารต่างๆ
  • ไม่อนุญาตให้ซักเสื้อผ้าส่วนตัวในระหว่างระยะเวลาอบรม ควรนำชุดมาให้พอดีกับจำนวนวันที่เข้าอบรม

  • เมื่อนำร่ม-ของใช้ต่างๆไปใช้ ควรนำกลับมาเก็บที่เดิมทุกครั้ง

  • การใช้น้ำ ไฟ พัดลม เมื่อออกจากจากห้องให้สำรวจแล้วปิดทุกครั้ง

  • ควรคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอในการอยู่ร่วมกัน

  • ปิดประตูให้สนิททุกครั้งเมื่อเข้า-ออก ณ ที่ใดๆ เพื่อป้องกันสัตว์ แมลง ยุง ฯลฯ เข้าไปรบกวนผู้อื่น
  • ระเบียบการใช้ห้องน้ำ
  • ควรช่วยรักษาความสะอาดหลังเสร็จธุระแล้ว โดยใช้ผ้าที่เตรียมไว้ให้ เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ตากไว้ที่เดิม (ห้ามใช้สายชำระฉีดน้ำล้างพื้น และอื่นๆ)

  • ถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องน้ำ

  • ทำความสะอาดก่อนออกจากห้องน้ำเหมือนก่อนเข้าไป

  • ปิดฝาถังน้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันแมลง และยุงไปเพาะพันธุ์

  • ปิดประตูให้สนิททุกครั้งเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลานเข้าไป

  • ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งเอาไว้ เปิดรองใช้แค่พอดี

  • ห้ามทิ้งผ้าอนามัย/กระดาษชำระลงในโถส้วม

  • ปิดโถส้วม และฝานั่งทุกครั้ง เพื่อป้องกันแมลง และสัตว์ต่างๆ ตกลงไป
  • ระเบียบการใช้ที่พัก
  • เบาะที่นอนในห้องพัก ต้องปูผ้าปูที่นอนที่แจกให้ไปก่อนใช้ และ สวมปลอกหมอน เพื่อ รักษาหมอน ที่นอนให้อยู่ในสภาพดี ไม่เหม็นอับ หรือติดกลิ่นตัว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติท่านอื่นที่มาใช้ต่อไปได้ หากไม่ปูที่นอนและสวมปลอกหมอน อาจจะทำให้เกิดเชื้อรา กลิ่นเหม็น และอาจจะเกิดเชื้อโรคที่จะทำให้ที่นอน และหมอนเสียได้

  • ควรเคารพความเป็นส่วนตัวในห้องพักระหว่างผู้ร่วมปฏิบัติด้วยกัน ของใช้ส่วนตัวควรเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่วางเกะกะ ปัดกวาดเช็ดถูห้องพักทั้งก่อนเข้าพักและหลังสิ้นสุดการอบรมแล้ว

  • ไม่ควรล็อคห้องพักไม่ว่ากรณีใดๆ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจดูแลความเรียบร้อยดังนั้น ของใช้มีค่าไม่ควรนำติดตัวมาด้วย หากนำมาให้เจ้าหน้าที่นำใส่ล็อคเกอร์และต้องคืนกุญแจหลังอบรม

  • ของใช้ส่วนตัวที่ได้รับแจกตอนลงทะเบียน มีผ้าห่ม ผู้ปูที่นอน ปลอกหมอน หากผ้าห่มไม่ได้ใช้ให้ใส่ถุงแยกเอาไว้ นำส่งคืนพร้อมกันตอนกลับในวันสุดท้ายเวลา 12.00น

  • ห้องน้ำด้านในอาคาร มีไว้เพื่อผู้อาวุโส (อายุมากกว่า 60 ปี) เข้าออกไปนอกอาคารลำบาก ท่านอื่นควรใช้ห้องน้ำด้านนอกหากไม่จำเป็น และควรระมัดระวังเสียงประตูห้องน้ำ ไม่ให้รบกวนผู้อื่นที่พักอยู่ในห้องพัก

  • ผู้เข้าอบรมหญิงไม่ควรเข้าไปเขตที่พักฝ่ายชาย และบริเวณที่พักของพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชายไม่ควร ไปเขตที่พักผู้ปฏิบัติหญิง
  • การปฏิบัติตัวในหอปฏิบัติธรรม
  • ถอดรองเท้าไว้ด้านหน้าที่เตรียมไว้ให้

  • ควรไปก่อนเวลา 15 นาทีเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจให้เรียบร้อย

  • ระวังเสียงประตูจะรบกวนผู้อื่น ควรเปิด-ปิดด้วยความระมัดระวังประคองไว้ จนปิดสนิท

  • นั่งเรียงกันไปตามลำดับเพื่อคนที่มาทีหลัง เข้าที่นั่งได้สะดวก แยกนั่งชาย-หญิง คนละส่วนตามคำแนะนำของธรรมบริกร (ตามหมายเลขประจำตัว)

  • ไม่นั่งพิงเสา -ไม่หันเท้าไปทางพระประธาน-ไม่นั่งชันเข่า-นั่งหลับ-โยกตัวไปมา

  • ขณะปฏิบัติธรรมในหอธรรม อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติหญิงเข้าห้องน้ำฝั่งทางเดินริมรั้วได้
  • ระเบียบอื่นๆ
  • ระเบียบการแต่งกายชุดขาว หรือ เสื้อขาว ผ้าถุงดำ ไม่อนุญาตลวดลาย ตัวหนังสือ สีสัน หรือบาง รัดรูปและกางเกงขาสั้น-ขาสามส่วน

  • ไม่อนุญาตให้พกอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น MP3 วิทยุ หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ให้ความบันเทิงแม้แต่การอ่านหนังสือหรือการฟังธรรมอื่นนอกจากคำสอนของครูอาจารย์ที่ให้การอบรมอนุญาต

  • บุคคลภายนอกที่มาติดต่อ ต้องเฉพาะเรื่องด่วนเท่านั้น ซึ่งเข้าพบได้ที่ศาลาริมน้ำ

  • สำหรับท่านที่ต้องการใบอนุโมทนา ให้เขียนชื่อ-ที่อยู่ให้ชัดเจนมาให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อและนับจำนวนเพื่อออกหลักฐานการรับเงิน ไม่ควรหยอดตู้ด้วยตนเอง ปัจจัยบำรุงวัชรธรรมสถาน ไม่สามารถนำไปหักภาษีได้

  • ผู้ที่เคยมาปฏิบัติแล้ว หากต้องการจะสมัครเป็นผู้ช่วยธรรมะบริกรสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้โดยอย่างน้อยได้ผ่านการอบรมจากวัชรธรรมมาแล้ว2-3ครั้ง (สามารถเขียนคำว่าผู้ช่วยธรรมะบริกร ลงหลังชื่อตัวเองในใบสมัคร)

  • เมื่อเข้ามาแล้วควรเคารพสถานที่และหน้าที่ตนเอง เพื่อเข้ามาขัดเกลาจิตใจ ดังนั้นไม่ควรชักชวนกัน พูดคุย เน้นการอยู่อย่างสันโดษ เพื่อประโยชน์ทางจิตใจอย่างสูงสุดของตนเองและผู้อื่นไม่คุยกัน

  • ไม่อนุญาตให้ออกนอกสถานที่โดยไม่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่/ธรรมบริกรและความเห็นชอบจากอาจารย์ผู้สอน ผู้มีความจำเป็น ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการอบรม

  • ผู้ทำผิดระเบียบจะถูกตักเตือน แนะนำ ถ้าผิดเกิน 3 ครั้งไม่พิจารณารับเข้าปฏิบัติอีกเพื่อไม่เป็นการรบกวนผู้อื่นต่อไป
  • ขั้นตอนในการตักเตือนผู้กระทำผิดระเบียบ

    การเตือนครั้งที่ 1 จะติดข้อความไว้ที่หน้าห้องผู้ปฏิบัติ

    การเตือนครั้งที่ 2 ธรรมะบริกรจะเชิญผู้ปฏิบัติไปสอบถามและแนะนำ

    การเตือนครั้งที่ 3 ชื่อของผู้กระทำผิดจะติดไว้ที่โรงอาหาร และไม่อนุญาตให้เข้าอบรมในครั้งต่อไป เป็นเวลา 6 เดือน - 1 ปี


    ระเบียบการสมัครอบรมวัชรธรรมสถาน
    1. ผู้สมัครต้องกรอกข้อมูลตามจริงทั้งหมดทุกข้อในใบสมัครในเว็บแล้วจึงลงทะเบียนสมัครเข้าอบรม
    2. ข้อมูลที่ไม่ครบ/ผิดพลาดหรือไม่สามารถติดต่อกลับได้จะถูกตัดสิทธิ์
    3. การสมัครสามารถสมัครได้ล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน* และ จะปิดรับสมัคร 2 สัปดาห์* ก่อนการอบรม ไม่ควรสมัครอบรมเกิน 3 ครั้งต่อปี เพื่อให้ผู้อื่นได้โอกาสเข้าอบรมบ้าง
    4. การสมัครแทนกันสามารถกระทำได้ แต่ผู้มีชื่อในใบสมัคร จะต้องรับผิดชอบยอมรับ* และ ปฏิบัติตามระเบียบการสมัคร และ ระเบียบการอบรมทุกประการ
    5. เมื่อท่านได้ทำการสมัครอบรมผ่านหน้าเว็บไซด์แล้ว จะต้องทำการยืนยันเพื่อเข้าอบรมผ่านเว็บหน้า เมื่อยืนยันแล้วแต่ไม่สามารถเข้าอบรมได้ ต้องทำการสละสิทธิ์ผ่านหน้าเว็บ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สำรองได้มีสิทธิ์ เข้าอบรม ***
    6. ในกรณีที่มีผู้ตอบยืนยันมาไม่ถึง 20 ท่าน คณะกรรมการขอพิจารณา ยกเลิกการอบรมในหลักสูตรนั้นๆ
    7. การตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธ์เข้ารับการอบรม จะกระทำได้โดยเปิดเว็บไปดูที่หัวข้อรายชื่อผู้มีสิทธิ์อบรม ผู้ไม่มีรายชื่อจะไม่มีสิทธิ์เข้ารับการอบรม
    8. ผู้สมัครต้องศึกษาระเบียบการอบรม ให้แน่ใจว่าสามารถปฏิบัติได้ตลอดการอบรม ก่อนการสมัครเข้าอบรม เพราะระเบียบแต่ละที่นั้นแตกต่างกัน
    9. การส่งข้อมูลติดต่อเรื่องการอบรมปฏิบัติธรรม หรือ มีปัญหาในการสมัคร ให้ส่งมาที่ e-mail: vacharadham@gmail.com เท่านั้น
    10. ผู้สมัครจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงในวันลงทะเบียน ซึ่งถ้าไม่ตรงกับใบสมัคร หรือ ลืมนำมาจะไม่พิจารณาเข้ารับการอบรม
    11. โปรดตรวจสอบรายชื่ออีกครั้งในอาทิตย์สุดท้ายก่อนการอบรมในเว็บเท่านั้น

    ผู้มีปัญหาในการสมัครที่ต้องการเข้าอบรมจะต้องชี้แจงสาเหตุของปัญหา/ยืนยันว่าได้อ่านและปฎิบัติตามระเบียบการสมัครแล้ว/ได้ศึกษาระเบียบการอบรมแล้ว/และยินดีปฎิบัติตามทุกประการ-และยืนยันขอเข้ารับการอบรมด้วยตัวเอง และพิมพ์รายละเอียด ชื่อ-ที่อยู่วดป.ที่เกิด อายุ อีเมล หมายเลขบัตรประชาชน ส่งมาทางอีเมลของวัชรธรรมสถาน เพื่อขอรับการพิจารณาเข้าอบรมเป็นกรณีพิเศษ และรอดูผลการพิจารณาผ่านทางเว็บเหมือนผู้สมัครท่านอื่นๆ


    ระเบียบการปฏิบัติ

    1. อายุ 15 ปีขึ้นไป มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สุขภาพจิตปกติ ช่วยเหลือตนเองได้
    2. ตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบของธรรมสถานอย่างเคร่งครัด ตลอดตามเวลาที่กำหนด
    3. ติดป้ายชื่อที่อกเสื้อด้านซ้ายตลอดเวลา
    4. งดใช้เครื่องมือสื่อสาร เครื่องใช้และเครื่องเล่นไฟฟ้าทุกชนิด
    5. ไม่แต่งหน้า ทาปาก หรือใช้น้ำหอม และเครื่องสำอางค์
    6. ไม่พูดคุยหรือติดต่อกับผู้อื่น ยกเว้น ธรรมบริกร
    7. งดสูบบุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด ไม่นำเอาอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเข้าห้องพัก
    8. ไม่นำงานไปทำระหว่างปฏิบัติ ไม่อ่าน เขียนหนังสือ ไม่ฟังวิทยุ เทป นอกจากที่กำหนด
    9. ไม่ออกนอกอาคารและสถานที่ที่กำหนด ไม่นำบุคคลอื่นเข้าไปในห้องพัก
    10. ไม่พบญาติหรือบุคคลภายนอกก่อนได้รับอนุญาต
    11. สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่รบกวนสมาธิของผู้อื่น ทั้งในขณะปฏิบัติและเวลาพักผ่อน
    12. ในกรณีที่ไม่สบายกาย/ใจ มีปัญหาไม่เข้าใจ โปรดปรึกษาวิทยากร หรือ ธรรมบริกร เท่านั้น
    13. เป็นผู้ “กินง่ายอยู่ง่าย” เกรงใจและให้เกียรติผู้อื่น และสมาทานศีลโดยคร่งครัด (ศีล๘)
    14. การแต่งกาย ชุด/สี เฉพาะ ขาว ดำ ไม่สวมกางเกงขาสั้น ขาสามส่วน/มีลวดลาย
    15. สุภาพสตรีไม่ควรใส่เสื้อบาง/รัดรูป ควรมีสไบเพื่อความเรียบร้อย เมื่อปฏิบัติต่อหน้าพระสงฆ์

    ตัวอย่างตารางการปฏิบัติ

    เวลา กิจกรรม
    04:00 ตื่นนอน ทำกิจส่วนตัว
    04:30 - 06:00 ทำวัตรเช้า / นั่งสมาธิ
    06:00 - 07:00 ฟังธรรม / เดินจงกรม
    07:00 - 08:00 รับประทานอาหารเช้า
    08:00 - 09:00 พัก / สรีระกิจ / ทำความสะอาดธรรมสถาน
    09:00 - 11:00 ฟังธรรม / ปฏิบัติ
    11:00 - 12:00 รับประทานอาหารกลางวัน
    13:00 - 16:00 ฝึกปฏิบัติ
    16:00 - 18:00 ดื่มน้ำปานะ / สรีระกิจ / ทำความสะอาดธรรมสถาน
    18:00 - 19:00 เดินจงกรม
    19:00 - 20:00 ทำวัตรเย็น
    20:00 - 21:00 ฟังธรรม
    21:00 - 22:00 นั่งสมาธิ
    22:00 เข้าที่พักปฏิบัติด้วยตนเอง

    วันแรก ของการปฏิบัติปกติลงทะเบียนก่อนเวลา 09:00 น.

    วันสุดท้าย ของการปฏิบัติเลิก 16:00 น. และให้ส่งของใช้ส่วนตัวคืนก่อน 13:00 น.