ประวัติพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เมตตาสอน ณ วัชรธรรมสถาน

  • พระอาจารย์วิชัย เขมิโย

    ปฏิปทาการดำเนินของท่านพระอาจารย์วิชัย เขมิโย

    ชื่อเดิม “วิชัย คล่องแคล่ว” เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (สองพันสี่ร้อยแปดสิบแปด) ณ ที่บ้านหินลาด ตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรคนที่ ๓ ของนายบัว นางกอง คล่องแคล่ว (สำหรับคุณแม่บวชเป็นแม่ชีอยู่ด้วยขณะนี้) พ่อนั้นตายเสียตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ ๑ ขวบกว่า ๆ อาชีพเดิมของบิดามารดา คือการทำนาตามบรรพบุรุษหลายชั่วคน เมื่อตอนเล็ก ๆ ข้าพเจ้าชอบอยู่กับยาย คือแม่เอาข้าพเจ้าไปฝากยายไว้ซึ่งอยู่คนละบ้าน เพราะแม่ของข้าพเจ้าท่านได้ไปแต่งงานใหม่ ทำให้ข้าพเจ้ากับน้องได้ไปอยู่กับยาย

    นี่คือปฐมบทของชีวิตของเด็กน้อย ที่ได้เริ่มรู้จักกับความว้าเหว่อ้างว้างของลูกที่กำพร้าพ่อและพลัดพรากจากแม่

    เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๗ ขวบ ยายก็ให้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านแก่งเจริญ ข้าพเจ้าทำงานหนักที่พอจะทำได้มาตั้งแต่เด็ก ๆ จะเรียกว่าเป็นชีวิตทั้งกำพร้าพ่อแม่ก็ว่าได้เพราะไม่ค่อยจะได้อยู่กับแม่ ข้าพเจ้าได้ช่วยยายและพวกน้าผู้หญิงผู้ชายทำงาน กล่าวคือเมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องไปตักน้ำใส่ตุ่มน้ำกินน้ำใช้ เพราะหมู่บ้านที่อยู่นั้นบ่อน้ำอยู่ห่างไกลออกไปประมาณ ๑ กม. และเมื่อตักน้ำกินมาไว้เต็มตุ่มแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องลงไปตักน้ำในแม่น้ำมูลมาใช้และรดห้างพลูกินหมากให้ยาย นี่เป็นงานประจำตอนเด็ก นอกจากนั้น ยังต้องช่วยน้าผู้หญิงตำข้าวด้วย เพราะสมัยนั้นหมู่บ้านแถบนี้ยังไม่มีโรงสีข้าว

    ชีวิตข้าพเจ้าจึงตกระกำลำบาก เด็กเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันเขาสบายกันมาก ส่วนข้าพเจ้าเวลากินก็แสนจะลำบาก แม้แต่เวลานอนก็ลำบาก ถึงฤดูทำนาต้องไปนอนที่กระท่อมนากับน้าผู้ชาย ตื่นเช้ามาต้องนึ่งข้าวเหนียวหุงข้าวให้น้า เพราะน้าตื่นขึ้นมาก็รับไปไถนา เมื่อหุงข้าวเสร็จ ก็ต้องหามฟืนกลับบ้านซึ่งห่างจากทุ่งนาประมาณ ๔ กม. พอถึงบ้านก็ต้องรีบกินข้าวไปโรงเรียน ระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงโรงเรียน ๓ กม. สมัยนั้นยังไม่พัฒนา ทางการให้ ๓ - ๔ หมู่บ้านไปเรียนหนังสือรวมกันที่โรงเรียนแห่งเดียว ทำให้เด็กนักเรียนแต่ละหมู่บ้านต้องเดินไปเรียนกันทางไกลหน่อย

    พอเลิกเรียนในตอนบ่าย ก็เดินกลับบ้านรีบกินข้าว ซึ่งส่วนมากเป็นข้าวเหนียวในก่องข้าวหรือกระติบเย็นชืดกับปลาร้าและพริกแทบทุกวัน อร่อยมากเพราะหิว คนเราเมื่อหิวกินอะไรก็อร่อยทั้งนั้น จากนั้นก็เอากระบุงใส่ปุ๋ยคอกหาบไปทุ่งนาวันละหาบเฉพาะตอนเย็นการไปนาและกลับมาบ้านนั้น บ่าของข้าพเจ้าจะไม่ว่างจากไม้คานเลย เพื่อนฝูงที่เขามีนาอยู่ใกล้กัน ๔ - ๕ คน เขาเดินไปตัวเปล่าเดินมาตัวเปล่าหยอกล้อกันบ้าง วิ่งไล่จับกันสนุกสนาน ส่วนข้าพเจ้าทำไม่ได้เพราะบ่าต้องหาบคอนใส่ของหนังอึ้ง หมดสนุกสนานมีแต่ความเศร้าสร้อย

    น้าผู้ชายท่านรักข้าพเจ้ามาก รักเสมือนลูกของท่านจริง ๆ ส่วนน้าผู้หญิงนั้นแกไม่รักข้าพเจ้าเลย ชอบข่มเหงรังแกตลอดเวลา บางครั้งทำอะไรไม่ทันใจแกก็จะจิกหัวหรือเฆี่ยนเอา แต่ถ้าน้าผู้ชายเห็นแล้วจะทำไม่ได้ ชีวิตของข้าพเจ้าหากไม่มีน้าผู้ชายช่วยปกป้องแล้วลำบากแสนเข็ญมาก แม้แต่เวลาเข้าเรียนหนังสือเพื่อนเขาได้กระดานใหม่ ๆ คือ กระดานชนวน ได้กางเกงใหม่ เสื้อใหม่ ดินสอใหม่ ส่วนข้าพเจ้าไม่เคยได้เขียนกระดานใหม่ ไม่เคยได้ดินสอใหม่แท่งยาว ๆ เหมือนเขาเลย ยายเป็นคนตระหนี่ประหยัด จึงให้ใช้กระดานแตก ๆ แต่พอเขียนได้ ดินสอก็สั้น ๆ กุด ๆ แม้แต่กางเกงของข้าพเจ้าก็ขาดกะรุ่งกะริ่ง เพื่อนชอบล้อเล่นอยู่เรื่อยว่า “ลุงก็มาโรงเรียนเหรอ?”

    หนังสือเรียนก็เก็บเอาของเก่าเขามาให้อ่าน ขาดไปก็มี แต่ก็ยังเป็นบุญบารมีของข้าพเจ้าที่เรียนหนังสือได้เก่งพอสมควร ได้เป็นหัวหน้าชั้นบ่อยที่สุด พูดถึงของใช้แล้ว น้อยนักน้อยหนาที่จะได้ใช้ของใหม่ ๆ ดี ๆ ถ้าเป็นผ้านุ่งผ่าห่มก็รับเอาของเก่าพี่ชายบ้าง ยายเอาของคนอื่นมาให้บ้าง พอถึงหน้าหนาว ผ้าห่มก็แสนจะขาดปะแล้วปะอีก กางเกงและเสื้อก็ปะแล้วปะอีก ชีวิตของลูกกำพร้าที่อยู่อาศัยยายและน้านั้นแสนจะลำบากเหลือเกิน

    ชีวิตเอ๋ยช่างอาภัพโชคกระไรหนออย่างนี้ มองดูชีวิตเพื่อนรุ่นเดียวกันเขาช่างมีความสุขมาก

    ครั้นพออายุได้ ๘ ขวบ เรียนอยู่ประถม ๒ พี่ชายลูกคนละพ่อเขาไปบวชเป็นสามเณร จิตใจของข้าพเจ้าอยากจะตามไปบวชด้วยเหลือเกิน ได้เห็นพี่ชายห่มผ้าจีวรเหลืองอร่ามเหมือนทองดอกบวบงามจับใจ ทำให้ใจไม่อยากจะอยู่บ้านเลย เพราะอยู่บ้านกับยายกับน้าผู้หญิง มีแต่ความทุกข์กายทุกข์ใจเสมอจะยากลำบากกับการงานหนักเกินวัยเด็ก เวลาเช้าฤดูแล้ง ยายให้ไปส่งข้าวเณรพี่ชายที่วัดทุกเช้า ข้าพเจ้าบอกเณรพี่ชายให้หาหนังสือพระเณรที่เกี่ยวกับการบอกวิธีบวชเรียนและสวดมนต์มาให้ พี่เณรก็เอาหนังสือเจ็ดตำนานมาให้อ่านและได้บอกคำขอบวชให้ด้วย ข้าพเจ้าเอามาอ่านมาท่องทุกวัน ท่องคล่องปากเพราะเคยได้ยินพระสงฆ์ท่านสวดมนต์อยู่เสมอ วันไหนว่างก็แอบไปวัด เพราะวัดคือสถานที่เล่นเย็นใจหรือสนุกสนานของเด็ก ๆ บ้านนอก เมื่อไปวัดก็ท่องคำขอบบวชเณรให้ขึ้นและได้ขอร้องให้พี่เณรมาช่วยพูดกับยาย ขอร้องให้ยายอนุญาตให้ข้าพเจ้าบวชเณรบ้าง พี่เณรก็บอกว่าเรียนหนังสือยังไม่ทันจบ ป.๔ บวชเณรไม่ได้หรอก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ฟัง ได้รบเร้าอยู่เรื่อย ๆ จนพี่เณรทนไม่ไหวต้องมาบอกยาย เลยโดยยายตวาดเอา

    แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่ลดละความพยายามจะบวชให้ได้ ปีต่อมาข้าพเจ้าพยายามหาวิธีบวชให้ได้ วันไหนว่างแอบไปฟังท่านอาจารย์ที่วัดเทศน์และสนทนากับท่านบ้าง ท่านก็ชวนบวช ทำให้ศรัทธาของข้าพเจ้ายิ่งมีมากขึ้น บางวันไถนาปลูกข้าวอยู่แต่ร่างกาย ส่วนจิตใจมาอยู่วัดตลอดเวลา วันหนึ่งปลูกข้าวอยู่กับแม่ เป็นวัน ๗ ค่ำ ซึ่งทางภาคอีสาน พอถึงวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ พระเณรที่วัดต้องตีกลองให้สัญญาณบอกวันโกนวันพระ เขาเรียกว่าตีกลองแลง ( แลง แปลว่า ตอนเย็น) แม้แต่ตี ๔ ตอนกลางคืนก็ตีกลองอีก ตีสลับกับฆ้องเรียกว่าตีกลองดึก เสียงวังเวง ฝูงหมาจะเห่าหอนกันเกรียวทีเดียว

    วันนั้นพอได้ยินพระท่านตีกลองแลง จิตใจของข้าพเจ้าหวิว ๆ อย่างไรบอกไม่ถูก บอกแม่ว่าเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วผมต้องบวชให้ได้ แม่ก็บอกว่า แม่จะบวชให้ลูกทุก ๆ คนนั่นแหละ ข้าพเจ้าดีใจแสนจะดีใจบอกไม่ถูก ถึงวันพะข้าพเจ้าชอบทำบุญตักบาตร แม้แต่ไปเที่ยววัดไหนยามมีงานวัด ก็ต้องทำบุญก่อนเที่ยว เรื่องทำบุญนี้ทำเองด้วยใจรัก ไม่มีใครบอก เป็นฉันทะความพอใจความเลื่อมใสจากส่วนลึกของหัวใจ แม่เอาเงินให้ไปเที่ยวดูโน่นดูนี่ แต่ข้าพเจ้ากลับเอาเงินไปทำบุญหมดก็มี จิตใจมีแต่เมตตาความรักความเอ็นดูสงสารต่อคนอื่นเสมอ แม้แต่สัตว์ เป็นต้นว่าไก่ก็ไม่เคยฆ่า สุนัข แมว วัว ควาย ไม่เคยฆ่า มีเมตตาสงสารสัตว์เหล่านี้เสมอ เห็นใครเขาเชือดคอเป็ดคอไก่แล้วต้องรีบเดินหนีด้วยความสงสาร เห็นคนขับเกวียนบรรทุกฟืนเพียบแปล้ เอาดุ้นฟืนขนาดเท่าแขนตีวัวเทียมเกวียน บังคับขู่เข็ญให้วัวลากเกวียนไป แต่วัวหมดแรงลากไม่ไหวถูกตีจนล้มฟุบ ขี้แตกออกมา ข้าพเจ้าเห็นแล้วถึงกับร้องไห้ด้วยความสงสาร โอหนอ ทำไมคนเราใจคอโหดร้าย ใช้สัตว์ทำงานทารุณถึงปานนั้น ช่างไม่คิดเวทนาสงสารวัวลากเกวียนเอาเสียเลย หรือว่าชาติปางก่อน วัวตัวนั้นเคยเป็นคนทำบาปชั่วมามาก ชาตินี้เลยมาเกิดเป็นวัวให้คนเขาทุบตีใช้งานหนักเช่นนี้เป็นการใช้กรรมเวร? เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันชอบล้อว่า พ่อใจบุญ ๆ ๆ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจเสมอ

    เริ่มบวชเป็นสามเณร อายุ ๑๗ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ วัดเวฬุวัน บ้านหนองไผ่ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลธานี โดยมีท่านพระครูสุนทรธรรมวิบูลย์ เป็นพระอุปัชณาย์ บวชในช่วง ๑๐.๐๐ น. ตกกลางมาก็เริ่มปฏิบัติสมาธิเป็นแล้ว เพราะเคยฝึกมาก่อนบวช การนำจิตเข้าสู่สมาธิจึงทำได้พอสมควร ปฏิบัติมาตลอดทุก ๆ วันในพรรษาแรก จิตก็เข้าสมาธิได้สม่ำเสมอแล้ว พรรษาที่สอง สอบนักธรรมตรีได้ และการปฏิบัติเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ในกลางพรรษาที่สอง พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ที่หิ้งพระ แย้มพระโอษฐ์อยู่นานพอสมควรจึงเสด็จไป

    พ.ศ.๒๕๐๘ ย้ายมาอยู่วัดสว่างอารมณ์ บ้านเสียม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เรียนนักธรรมชั้นโท แต่ก็สอบไม่ผ่าน ออกพรรษา หมดเขียนกฐิน ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ เวลา๖.๐๐ น. บวชไม่กี่วันก็ได้เดินธุดงค์ไปประเทศลาวกับหลวงปู่ไพ ไปพบหลวงพ่อมหาผ่อง เมืองโพนทอง ไปภูมะโรง พบอาจารย์บุญมาก ข้ามยนต์ไปที่จังหวัดปากเซ แล้วก็เดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านยิก เลยไปถึงอัตบามือ ใกล้เมืองสาลวัน ติดต่อเขตแดนลาว เวียดนาม ย้อนกลับมาทางจังหวัดจำปาสัก เดินธุดงค์อยู่ทางประเทศลาวนานพอสมควร จึงได้กลับขึ้นมาประเทศไทย ปี ๒๕๐๙ จำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวดูน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติไปด้วยศึกษาธรรมไปด้วย ก็สอบนักธรรมชั้นโทได้ กลับมาอยู่วัดสว่างอารมณ์บ้านเสียมอีกครั้งหนึ่ง ศึกษานักธรรมชั้นเอกต่อ

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้ออกจากวัดสว่างอารมณ์ มุ่งหน้าต่อไปทางอุดธานี เดินธุดงค์อยู่ตามภูเก้า อำเภอหนองบัวลำภู ขณะนี้เป็นจังหวัดไปแล้ว และเดินอยู่หลายอำเภอ เพราะแถบนั้นมีป่าเขามาก ในปีนั้นก็ได้เดินกลับมาจำพรรษาอยู่วัดบ้านกุดจิก ตำบลห้อยเกิ้ง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีออกพรรษาเดินทางไปเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศลาว นานพอสมควรก็ได้ข้ามมาประเทศไทย

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ จำพรรษาอยู่บ้านกุดจิกต่อ ออกพรรษาก็ได้เดินทางกลับไปเวียงจันทน์อีก ปี ๒๕๑๔ เดินทางไปอบรมพระพัฒนาการทางจิต ที่จิตภาวันวิทยาลัย อำเภอบางละมุง ได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ เสร็จจากการอบรมเป็นเวลาสามเดือนก็เดินทางกลับอุดรอีกครั้งหนึ่ง

    ได้ลาญาติโยมเดินธุดงค์ลงภาคใต้ ได้ไปจำพรรษาอยู่วัดท้าวโครต ขณะนี้เปลี่ยนเป็นวัดชายนา ตำบลนา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติที่นี่เป็นเวลา ๒ ปี ในช่วงอยู่วัดชายนานี้ได้มีโอกาสทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ มอบกายถวายชีวิต ค้นคว้าหาสัจธรรมโดยไม่คำนึงถึงตายตามอยู่ หมายถึงเอากายเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย อยู่เดือนปี ไม่มีใจดวงจิต มุ่งหน้าตั้งตาเอาชนะจิตของตัวเอง และเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ในช่วงฤดูแล้ง บางโอกาสก็ออกแสวงหาวิเวก โดยการเดินธุดงค์ไปตามสถานที่สงัด ๆ บางครั้งก็ไปสามเดือนสี่เดือน ก็ย้อนกลับมารับโอวาทจากหลวงพ่อใหญ่ ธมฺมธโร ออกพรรษาก็เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ไปแทบทุกจังหวัด และทุกภาคด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งร่างกายสังขารซูบผอมมาก เดินก้าวขาแทบจะไม่ออก ซึ่งได้แวะเข้าไปพักปฏิบัติอยู่สวนโมกข์นานพอสมควร จวนจะเข้าพรรษา ปี ๒๕๑๕ จึงได้กราบลาหลวงพ่อพุทธทาสไปเดินทางไปเกาะสมุย แล้วเข้าจังหวัดนครศรีธรรมราช จำพรรษาที่วัดชายนาอีกครั้งหนึ่ง ออกพรรษาก็ได้เดินธุดงค์กลับทางภาคอีสาน และก็ย้อนกลับลงไปภาคใต้อีก เพื่อจะไปกราบลาหลวงพ่อธมฺมธโร เดินทางไปประเทศพม่าตามความตั้งใจไว้ จึงได้ออกมาองค์เดียว เดินขึ้นมาเรื่อย ๆ ขึ้นมาถึงกรุงเทพแล้ว ก็แวะไปภาคตะวันออกแถวจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ขึ้นมาทางปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี มาป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถจะเดินทางต่อได้ และเข้าไปพักอยู่วัดเขาเทพพนมยงค์ ในช่วงนั้นหลวงปู่ไวยังไม่ได้ไปอยู่ ขณะป่วยอยู่นั้น ยาข้าวก็ไม่ได้กิน หลวงพ่อแก่ ๆ ท่านจัดให้อยู่กุฏิหลวงเก่า ๆ โทรมแล้ว โดยไม่มีใครมาถามข่าวคราวอะไรทั้งสิ้น นั่ง นอน กำหนดจิตต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา นึกว่าเป็นไข้อย่างอื่นเข้ามาแทรกเสียแล้ว เพราะมีความร้อนผิดปกติมาก ก็ได้เอาแต่น้ำเย็นลูบตัวของตัวเอง แก้ไขทางกายเราถือว่าไม่ยาก แต่การแก้ไขทางจิตใจนั้นยุ่งยากกว่า ก็เลยไม่ได้ห่วงมากเท่าไหร่นัก แต่เรื่องจิตใจนั้น จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ จิตใจป่วยร้ายกว่ากายป่วย กายป่วยไม่นานก็หาย แต่จิตใจป่วยนั้นหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นชาติ ที่คอยรักษาจิตใจอยู่ตลอดเวลานั้น ก็เพื่อจะให้เป็นผู้หายป่วยใจเสียที จะได้เป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของโรคชั่วร้ายทั้งหลาย

    พออาการป่วยทุเลาลงแล้ว ก็เดินทางต่อมุ่งสู่ภาคเหนือ มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นจุดแรก ได้ยินกิตติศัพท์ของครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง จิตมีความตั้งใจจะไปศึกษาธรรมกับท่าน ก็ได้ไปถึงเชียงใหม่ตามความตั้งใจครั้งแรกไปพักอยู่ที่วัดอุโมงค์ ย้ายไปพักอยู่ ๔ วัดเมืองบาง จากนั้นจึงได้เดินไปวัดน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง บำเพ็ญเพียรปฏิบัติอยู่ที่นี่นานพอสมควร และได้มาตั้งใจท่องปาฏิโมกข์จบอยู่ที่วัดนี้ ท่องอยู่ ๒๔ วันพอดี ความคิดที่จะเดินทางไปจำพรรษาที่ประเทศพม่ายังสะกิดใจอยู่ตอลด จึงได้กราบลาครูเจ้าอินทจักร์เดินทางต่อไป จากเชียงใหม่เข้าจังหวัดลำพูน มาพักศึกษาธรรมกับครูบาเจ้าพรหมจักร์ ก็เป็นเวลานานพอสมควร ก็เดินทางต่อขึ้นไปทางจังหวัดลำปาง เลยไปถึงเชียงราย ต่อถึงอำเภอแม่สาย ข้ามไปประเทศพม่าจะเดินทางต่อไปเชียงตุง กะว่าจะจำพรรษาที่จังหวัดเชียงตุง บังเอิญเจ้าหน้าที่พม่าไม่ยอมให้ไป จึงได้เดินวนไปมาในแถวเชียงรายหลายอำเภอที่สุดจวนจะเข้าพรรษา จึงได้มาพักจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำผาจม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่าเขาอยู่มาก และเงียบสงบ เหมาะสมกับผู้แสวงหาความวิเวกดี ในพรรษานั้นจึงได้ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จำพรรษาอยู่ถ้ำผาจมออกพรรษาก็เดินธุดงค์อยู่ในบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จำพรรษาอยู่ถ้ำผาจลุย บ้านป่าแงะ ตำบลแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย พักปฏิบัติอยู่ที่นี่ ๑๔ เดือน

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็ได้ย้อนกลับมาจำพรรษาอยู่วัดถ้ำผาจมอีกครั้งหนึ่ง จนถึงในปัจจุบันนี้ แต่ละปีนั้นจะออกแสวงหาวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี

  • หลวงพ่อโสภณ โอภาโส

    ประวัติพระสังฆาธิการ

    ชื่อ
    พระอธิการโสภณ ฉายา โอภาโส อายุ ๖๐ พรรษา ๓๙
    วิทยฐานะนักธรรมเอกพระวิปัสสนาจารย์ สอนกรรมฐานวัดบึงลัฏฐิวัน(สาขาที่ ๒๐ วัดหนองป่าพง)
    ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    ปัจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบึงลัฏฐิวัน

    สถานะเดิม
    ชื่อ นาย โสภณ นามสกุล จันทร์ดี
    เกิดวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๖๐ ปี
    บิดาชื่อนายศรี มารดาชื่อนางจัน นามสกุล จันทร์ดี
    ใน บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ ๓ ตำบล ม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

    อนาคาริกะ
    ได้พบกับพระโพธิญาณเถร ( หลวงปู่ชา สุภัทโท ) ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
    ถือเพศเป็นอนาคาริกะ (ปะขาว) อยู่ ๕ เดือน จึงอุปสมบทเป็น พระภิกษุ

    อุปสมบท
    วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ณ วัดบ้านโนนโหนน ตำบลโนนโหนน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
    โดยมี พระครูสุพจน์ อุบลรัตน์ วัดบ้านโนนโหนน เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอธิการถาวรหนุน อภินันโท วัดบ้านก่อนอก จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    มีพระอาจารย์สุบิน นรินโท วัดบ้านโนนโหนน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    วิทยฐานะ -พ.ศ. ๒๔๙๙ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียน บ้านแขม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
    -พ.ศ. ๒๕๑๖ สอบได้นักธรรมตรี สำนักเรียนวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
    -พ.ศ. ๒๕๑๗ สอบได้นักธรรมโท วัดเขาวัง จังหวัดราชบุรี
    -พ.ศ. ๒๕๑๘ สอบได้นักธรรมเอก วัดเขาวัง จังหวัดราชบุรี
    -พ.ศ.๒๕๒๐ มีความชำนาญการสอน วิปัสสนากรรมฐาน จากประสบการณ์การเดินธุดงค์ ๕ ปี ๖ เดือน ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

  • พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

    ๏ ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นรากฐานของการสร้างคน

    “พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม” เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลและธรรม มีศีลาจริยวัตรที่งดงาม เป็นพระที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนปฏิบัติตามคำสั่งสอนของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร บูรพาจารย์สายพระป่า

    พระอาจารย์สุธรรม มีนามเดิมว่า สุธรรม แซ่จึง เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2492 ตรงกับวันศุกร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ณ จังหวัดระยอง โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบุญเลี้ยง และนางเซี้ยม แซ่จึง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 14 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 2

    ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าหนองไผ่ บ้านหนองไผ่ ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร

    ๏ ภาวะผู้นำโดยธรรมชาติ

    โดยเหตุที่บุตรคนโตเป็นผู้หญิง ท่านพระอาจารย์ในวัยเด็ก จึงต้องทำหน้าที่เป็นพี่ชายคนโตของน้องๆ ทั้ง 12 คน โดยมิได้จงใจจะฝึกหัด แต่การที่ท่านสำนึกในความเป็นพี่ใหญ่ มีความรักความเมตตาต่อน้องๆ นี่เอง ได้ซึมซาบอุปนิสัยของความเป็น “ผู้นำ” ให้แก่ท่านโดยอัตโนมัติอย่างเป็นธรรมชาติ ซึมซาบอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ดังนั้น จะเห็นได้จากในปัจจุบัน บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของท่าน ต่างได้มีความรู้สึกที่เด่นชัดตรงกันประการหนึ่งว่า ท่านพระอาจารย์มีเมตตา เอื้อเฟื้อสงเคราะห์ เอาใจใส่จริงใจต่อศิษย์ ปานบิดาเอื้ออาทรต่อบุตร หรือดุจดังพี่ชายใหญ่ให้ความอนุเคราะห์ ห่วงใยคุ้มครองป้องกันภัย ให้แก่น้องๆ ทุกคนโดยเสมอหน้ากัน

    ๏ ความกล้าหาญที่ต้องเดิมพันด้วยชีวิต (แต่กอปรด้วยสติปัญญาและความรอบคอบระมัดระวัง)

    นับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของท่าน ที่บิดามารดามีความเห็นตรงกันที่จะฝึกให้บุตรทุกคนให้สามารถพึ่งตนเอง เรียนรู้แลค้นพบตนเอง ด้วยเหตุนี้นอกเหนือไปจากภารกิจที่ท่านปฏิบัติให้แก่ครอบครัวแล้ว ท่านจึงได้ใช้ชีวิตผจญภัย บ่มเพาะนิสัยเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในรูปแบบต่างๆ ตามวัยของท่าน เช่น การว่ายน้ำในแม่น้ำระยองซึ่งไหลเชี่ยวผ่านหน้าบ้านของท่าน แล้วว่ายออกไปสู่ปากอ่าวสู่ทะเลเป็นระยะทางไกลๆ ซึ่งมิใช่สิ่งง่ายสำหรับทุกท่าน

    เพราะการที่จะทำเช่นนี้ได้ บุคคลนั้นต้องฝึกฝนตนเองจนมีความชำนิชำนาญสูง มีความเพียร มีความแข็งแรง กล้าหาญ อดทน และที่สำคัญต้องมีความสุขุมระมัดระวังรอบคอบ คำนวณกำลังของตนเองกับระยะทาง และการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ต้องมีความถูกต้องแม่นยำ เช่น การสังเกตุคะเนระยะทางของเรือชนิดต่างๆ ที่จะแล่นผ่านมาว่ากับกำลังในการว่ายน้ำของตน ว่ามีอัตราเสี่ยงภัยมากน้อยเพียงใด เรือลำใดสามารถเกาะพักได้ หรือเรือลำใดจะเป็นอันตรายหากว่ายน้ำเข้าใกล้รัศมี เพราะมีชีวิตเป็นเดิมพัน ความสนุกท้าทายของท่านในวัยเด็กนั้น จึงสร้างเสริมลักษณะนิสัยความกล้าหาญอย่างรอบคอบ รู้เขา-รู้เรา มิใช่ความบ้าดีเดือด มุทะลุดุดันอันไม่เป็นแก่นสาร ของคนวัยคะนองทั่วไป

    ๏ อำลาเพื่อนและครู ไปสู้ชีวิตในท้องทะเลอันสุดแสนไกล

    เพราะความเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว ที่มีสมาชิกรวม 16 ชีวิต ท่านจึงจำเป็นต้องกล่าวอำลาเพื่อนๆ และกราบลาครูบาอาจารย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อออกมาช่วยครอบครัวทำมาหากิน โดยต้องออกไปเสี่ยงชีวิตผจญภัย ตระเวนไปกับเรือประมง เพื่อจับปลา กลางท้องทะเลมหาสมุทรอันกว้างไกล ซึ่งเต็มไปด้วยภยันตรายจากคลื่นลมและพายุที่ไม่รู้จักคำว่า “เมตตาปราณีต่อผู้ใด”

    ในขณะที่เพื่อนๆ วัยเดียวกัน เขาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน หรือวิ่งเล่นสนุกสนานในสนามกีฬา สนามฟุตบอล หรือขับร้อง ดีดกีตาร์ ฟังเพลงกัน แต่ท่านกลับง่วนอยู่กับงานหนักทุกชนิดบนเรือในท้องทะเลลึก ต้องรับผิดชอบภารหน้าที่ต่างๆ ต้องอดตาหลับขับตานอน กินอยู่พอแค่ประทังชีวิตไปวันๆ ต้องเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับพื้นฐานเป็นกรรมกรจับกัง ใช้แรงงานหนัก แล้วพัฒนาตนเรียนรู้หน้าที่ต่างๆ อย่างรวดเร็วขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยพื้นนิสัยเป็นคนจริงจัง ลงว่าตั้งใจทำอะไร จะทำจริง ไม่เยาะแหยะ ไม่โลเล สู้ไม่ถอย

    เพียงเวลาไม่กี่ปี ที่ได้บ่มเพาะสั่งสมประสบการณ์อย่างโชกโชน ถึงแม้อายุจะยังเป็นหนุ่มน้อย แต่ก็เป็นที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญสามารถ มีความรับผิดชอบสูง จนได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเรือ เป็นนายเรือ คือ เป็นไต้ก๋ง หรือตำแหน่งที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่ชาวเรือว่า “ไต๋” นั่นเอง

    แม้จะประสบความทุกข์ยากลำเค็ญแสนเข็ญในช่วงเวลานี้สักเพียงใด แต่ด้วยความเป็นผู้มีปัญญาและมองโลกในแง่ดี ท่านพระอาจารย์เคยเล่าประสบการณ์ในช่วงชีวิตวัยนั้น เป็นอุทาหรณ์ เป็นข้อคิด เป็นคติสอนใจบรรดาลูกศิษย์ให้ได้รับฟัง แล้วนำกลับไปคิดพิจารณาอบรมตนเอง คนที่หย่อหย่อน อ่อนแอ ท้อแท้ชีวิตก็กลับมีกำลังใจลุกขึ้นสู้ คนที่อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ให้ประมาทขาดสติ หลงระเริงในชีวิต ให้หมั่นคิดถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตเอาไว้เสมอๆ

    ๏ เต็มใจรับใช้ชาติ (เคารพในกฎกติกาของสังคม)

    จากวันนั้นจนถึงวัยเกณฑ์ทหาร ท่านขึ้นสู่ฝั่งด้วยจิตใจที่พร้อมจะรับใช้ชาติด้วยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางราชการ อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ในเรื่องนี้ คุณโยมมารดา เคยเล่าให้ฟังว่า บรรดาพ่อแม่ของเด็กหนุ่มๆ วัยเกณฑ์ทหารในระแวกบ้าน ต่างพากันวิ่งเต้นจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าที่บางคน เพื่อแลกกับการปลอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ทหารของลูกชายของตนๆ แต่สำหรับท่าน กลับกำชับอย่างแข็งขันกับมารดาว่า ขอห้ามขาดที่จะไปติดสินบนเพื่อการนี้ และท่านยังย้ำเพิ่มเติมอีกว่า หากท่านได้รับทราบข่าวว่าทางครอบครัวพยายามที่จะใช้เงินเพื่อการดังกล่าว ท่านสมัครขอเข้าเป็นทหารเกณฑ์ด้วยตนเอง

    ๏ ลาภลอยของน้องๆ

    ครั้งหนึ่งน้องสาวของท่าน เคยเล่าถึงช่วงชีวิตระหว่างนี้ของท่านว่า ในวัยหนุ่มช่วงนี้มีสตรีสาวงามหลายรายมีความชื่นชมยินดีในท่าน ต่างพากันแวะเวียนซื้อขนมซื้อข้าวของมาเยี่ยมเยืยนท่านถึงบ้านเสมอๆ แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะบวชเป็นพระให้ได้เสียก่อน ท่านจึงมิได้ให้ความหวังแก่สตรีคนใดเลย เมื่อเขามาเยี่ยมเยือนถึงบ้าน ท่านก็ดูจังหวะแล้วหลบเลี่ยงการพบปะโดยออกจากบ้านไป เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม แขกผู้มาเยือนนั่งเฝ้านั่งรอ ชะเง้อคอย คอยแล้วคอยเล่า แต่ก็ไม่มีเค้าว่าจะได้เห็น “ใครคนนั้น” แม้เพียงเงา จึงลากลับไปด้วยอาการเหงาๆ ซึมเศร้าผิดหวังไปตามๆ กัน ส่วนบรรดาน้องๆ ก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝน ได้กินของฝากกินขนมฟรีอยู่เป็นประจำ จึงเป็นเรื่องสนุกๆ ตามประสาเด็กๆ ที่อยู่ในความทรงจำของน้องๆ ของท่านเสมอมา

    ๏ การไม่คบคนพาล , การคบ บัณฑิตนี้เป็นมงคล อันสูงสุด

    มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านยังเกิดศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ก็เนื่องจากเหตุที่ได้พบกัลยาณมิตร คือ พระกรรมฐานรูปหนึ่งซึ่งเป็นชาวระยองเช่นกัน แต่ท่านพระกรรมฐานรูปนี้ได้ไปอยู่ปฏิบัติกรรมฐานภาวนากับหลวงปู่แหวน แห่งดอยแม่ปั๋ง จ . เชียงใหม่ ในวัยเด็กจนวัยหนุ่ม อุปนิสัยอีกประการของท่านพระอาจารย์ คือ การชอบคบเพื่อน คบมิตรที่สูงวัยกว่า ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมักสูงด้วยประสบการณเช่นกัน สำหรับเรื่องการคบเพื่อนนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของคนเรา ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธองค์คงมิ ตัดไว้เป็นข้อแรกและข้อที่สองของมงคล 38 ประการที่เริ่มด้วย :- อะเสวนา จะพาลานัง , บัณฑิตา นัญจะเสวนา …… เอตัมมังคละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล , การคบบัณฑิต …………….… นี้เป็นมงคลอันสูงสุด จึงนับได้ว่า วิถีชีวิตของท่านพระอาจารย์ เจริญก้าวหน้าก็เพราะได้คบคนดี เป็นมิตร ทุกครั้งที่พระภิกษุรูปนั้นเดินทางกลับลงมาจากเชียงใหม่และแวะพักที่ระยอง บุคคลทั้งสอง ก็ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย เล่าประสบการณ์แห่งชีวิตบรรพชิตนักปฏิบัติภาวนาให้อีกฝ่ายหนึ่งรับฟังด้วยความสนใจอยู่เสมอ จนวันหนึ่ง ..… วันที่ศรัทธาสุกงอม ..… มีความพร้อมแล้วทั้งกายและใจ

    ๏ สู่ร่มกาสาวพัตร์

    และแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2513 ได้อุปสมบทตามความปรารถนา ณ วัดตรีรัตนาราม อ . เมือง จ . ระยอง โดยมีท่านพระครูประจักษ์ ตันตยาคม วัดคีรีภาวนาราม อ . บ้านฉาง จ . ระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดตรีรัตนาราม 4 พรรษา เพื่อศึกษานักธรรม จนในที่สุดก็สอบผ่านได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. 2516

    ๏ เร่งขวนขวายการศึกษา ใช้เวลาให้ถูกตามจังหวะของชีวิต

    อย่างไรก็ตาม แม้ในเบื้องต้นท่านต้องศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติ เรียนนักธรรมชั้นต่าง ๆ ที่วัดตรีรัตนาราม แต่เมื่อถึงฤดูแล้งทุกปี ท่านจะต้องกราบลาครูบาอาจารย์ ขึ้นไปหาที่พักภาวนา บนดอยแม่ปั๋งกับท่านหลวงปู่แหวนบ้าง หรือบางทีก็ไปศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านหลวงปู่สิม ณ วัดถ้ำผาปล่อง อ . เชียงดาว จ . เชียงใหม่

    ท่านมักนำเรื่องนี้มาบอกเล่า เป็นคติแก่บรรดาพระหนุ่มเณรน้อย ตลอดจนถึงลูกศิษย์ผู้ใฝ่ใจในการปฏิบัติภาวนาว่า เมื่อแรกเป็นผู้ใหม่เข้ามาในวงการภาวนา ให้รีบเร่งขวนขวายในการศึกษา เล่าเรียน ให้พอมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในอรรถในธรรมเป็นเบื้องต้น เพราะเป็นบาทฐานสำคัญของการเจริญภาวนา และที่สำคัญเมื่อยังเป็นผู้น้อยกิจภาระต่าง ๆ ก็ยังน้อยนิดจงรีบใช้เวลานี้ ศึกษาเล่าเรียนอย่างเป็นระบบ เพราะต่อไปภาคหน้า ภารกิจความรับผิดชอบต่าง ๆ จะต้องเพิ่มขึ้น ไม่สะดวกในการศึกษาเล่าเรียน กรณีตัวอย่างนี้ ท่านก็ใช้เปรียบเทียบอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาวให้สนใจใฝ่ศึกษา หาความรู้ใส่ตัวเสียแต่ในวัยเด็ก อันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ทั้งทางร่างการสติปัญญาและทางจิตใจที่ยังปลอดโปร่งไม่สับสนวุ่นวายเหมือนกับผู้ใหญ ่ที่ต้องแบกภาระทำมาหากิน เลี้ยงดูครอบครัว

  • พระครูเมตตากิตติคุณ (สมหมาย อตฺตมโน)

    ๏ อัตโนประวัติ

    “หลวงพ่อสมหมาย อตฺตมโน” หรือ “พระครูเมตตากิตติคุณ” เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองอุดรธานีให้ความศรัทธา กราบไหว้ยกย่องนับถือในข้อวัตรปฏิบัติและปฏิปทา รวมทั้ง การเทศนาสอนธรรมพระกัมมัฏฐานแก่คณะศรัทธาญาติโยม ท่านบริหารจัดการวัดตามแนวทางของ พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสันติกาวาส ด้วยการสร้างศรัทธาปสาทะให้คณะศรัทธาโดยรอบวัดเลื่อมใสก่อน ส่วนการปฏิบัติภาวนาได้ยึดตามแนวทางของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ดังนั้น พระธรรมเทศนาหรือบทธรรมขององค์หลวงปู่ ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัยในชีวิตประจำวันของผู้คน หลวงพ่อสมหมาย อตฺตมโน มีนามเดิมว่า สมหมาย จันทรรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2493 ตรงกับวันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล จุลศักราช 1312 ณ บ้านไชยวาน ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายขันตี และนางสุดี จันทรรักษ์ ปัจจุบัน สิริอายุได้ 64 ปี พรรษา 41 (เมื่อปี พ.ศ.2557) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสันติกาวาส บ้านหนองตูม ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี

    ๏ ชีวิตปฐมวัย

    ในวัยเด็กมีอุปนิสัยใฝ่ทางธรรม(หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสพบกับพระครูศาสนูปกรณ์ พระภิกษุชื่อดังสายธรรมพระกัมมัฏฐานของหลวงปู่มั่นได้ออกเดินธุดงค์มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส ภูริทตฺโต ตั้งแต่เมื่อปีเพื่ออบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมในพื้นที่ให้สนใจการปฏิบัติภาวนา พ.ศ.2493 รวมทั้ง โดยท่านได้ติดตามโยมบิดาไปฟังเทศน์จากหลวงปู่บุญจันทร์ แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

    ๏ การบรรพชาและอุปสมบท

    พออายุ 12 ขวบ โยมบิดาได้ล้มป่วย และต่อมาได้เสียชีวิตลง ทำให้ท่านเกิดความปลงตกในชีวิต เบื่อหน่ายทางโลก จิตใจขอมุ่งแสวงหาทางธรรมเพื่อความหลุดพ้น จึงได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2507 ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเมธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

    ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2513 ณ พัทธสีมาวัดอัมพวัน (วัดม่วง) ต.หนองหาร อ.หนองหาร จ.อุดรธานี โดยมี หลวงปู่ทัน ปภสฺสโร เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่พวง สุวีโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงปู่บุญมาก อุตฺตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า“อตฺตมโน” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า“มีใจของตน คือมีจิตยินดีแล้ว”

    ๏ อุปัฏฐากหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

    ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ณ วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี มาโดยตลอด ต่อมาได้เดินทางออกไปปฏิบัติธุดงค์หลายแห่งด้วยเท้าเปล่า และมีโอกาสได้ไปกราบ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาอยู่ที่วัดป่าสันติกาวาส ท่านมีหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่บุญจันทร์มาโดยตลอดเช่นเดิม

    กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2515 หลวงปู่บุญจันทร์อาพาธเป็นวัณโรคกระดูก รักษาตัวอยู่ที่ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ด้วยการทำหน้าที่การอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่บุญจันทร์ ขณะอยู่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ทำให้หลวงพ่อสมหมายได้พิจารณาธรรมหลายอย่าง ได้เห็นทุกข์ ความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ได้อุบายธรรมจากการเจ็บป่วย อุบายธรรมดังกล่าวได้น้อมเข้ามาให้เห็นทุกข์ของสังขาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย รู้สึกเข้าใจสังขาร รูป กาย จิต อย่าไปสำคัญมั่นหมายหลงตัวเอง หลงว่าเป็นของเรา จึงเกิดทุกข์วุ่นวายเดือดร้อน

    หลวงพ่อสมหมาย มีความรู้สึกผูกพันกับหลวงปู่มาก ช่วงหนึ่งหลังจากบวชพระได้ 8-9 ปี มีพระอาจารย์รูปหนึ่งมาคุยกับหลวงปู่ ท่านบอกว่าต่อไปจะมอบให้ท่านสมหมายดูแลรับผิดชอบวัดป่าสันติกาวาส

    อยู่ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2520 มีเหตุบังเอิญต้องออกไปสร้างวัดป่าโนนม่วง (วัดโคกใหญ่) รวมทั้งได้อบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมในพื้นที่ให้เลิกไหว้ผี และหันมานับถือพระพุทธศาสนา

  • พระครูสิริสุตวราภรณ์ (ประกอบ ธมฺมชีโว)

    นามสกุลเดิม โคตรสมบัติ เกิดวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พระพุทธศักราช ๒๕๐๓

    ตรงกับวันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด เวลา ๘.๐๐ น.

    ที่บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ ๑๐ บ้านหนองทองหลาง ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร (พระพุทธศักราช ๒๕๑๕)

    บิดาชื่อ นายจูมศรี โคตรสมบัติ

    มารดาชื่อ นางจูบ เสมาไทย

    เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๑๐ คน

    จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี

    บรรพชาเมื่ออายุ ๑๓ ปี ที่อุโบสถวัดศรีธรรมาราม (วัดสร้างโศก) อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร พระครูอมรวิสุทธิ์ (พวง สุขินฺทฺริโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๕๑๖ สังกัดวัดป่าหนองไคร้ บ้านหนองทองหลาง ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร พระครูสุมนสารคุณ (ประสาร สุมโน) เป็นเจ้าอาวาส

    อุปสมบถเมื่ออายุ ๒๐ ปี (บวชต่อจากสามเณร) ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระเทพเมธาจารย์ (จันสี จนฺททีโป) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พรพุทธศักราช ๒๕๒๓ เวลา ๑๓.๓๑ น. พระครูอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาสิงห์ อินฺทปญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    จบการศึุกษาเปรียญธรรม ๕ ประโยค นักธรรมชั้นเอก จากศูนย์บาลีศึกษาอีสาน ภาค ๘,๙,๑๐,๑๑ (ธรรมยุต) วัดโพธิสมบูรณ์ จังหวัดอุดรธานี พระพุทธศักราช ๒๕๒๔

    จำบรรษาที่วัดบรมนิืวาส กรุงเทพมหานคร พระพุทธศักราช ๒๕๒๕ - ๒๕๒๘ ได้ก่อตั้งศูนย์อบรมภาวนาสิริจนฺโืท วัดบรมนิวาส

    ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปาชัยรังสี หมู่ ๔ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๕๒๘ - วันที่ี ๒๙ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๕๓๓

    ให้กำเนิดวัดป่ามหาไชย ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๕๓๓ ถึงปัจจุบัน

  • พระอาจารย์จิรวัฒน์ อัตตรักโข (ลูกศิษย์ท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร)

    ด้วยวัดป่าไชยชุมพลเป็นวัดป่าสายกัมมัฏฐาน ชึ่งตั้งอยู่บนเขาค้อ ห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก พื้นที่ทั่วไปภายในวัดเป็นป่าที่สมบูรณ์

    กำเนิด ท่านเกิดวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๕ ที่จังหวัดภูเก็ต โยมบิดาชื่อ สุชาติ สงวนสินธิ์ โยมมารดา ชื่อ ลออศรี สงวนสินธิ์ มีพี่น้องเป็นชาย ๔ หญิง ๒ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

    อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ อายุได้ ๒๒ ปี ที่วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) โดยมีเจ้าคุณราชพิศิฐธรรมภาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์วิชาญ ขันตญาโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ชาลี ธัมมวัฑฒโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    ตั้งสัจจะอธิษฐานหลังจากบวชแล้ว ว่า-หากยังคงมีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดังเช่นองค์พระหลวงปู่มั่นนี้ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันนี้แล้วไซร้ ขอให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้พบได้เห็น ได้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย” ซึ่งต่อมาท่านได้พบครูบาอาจารย์องค์ดังกล่าว คือ หลวงปู่ฝั่นนั่นเอง

    ท่านเริ่มออกเดินทางจากบ้านมาในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๗ เพื่อไปกราบขอเป็นลูกศิษย์ท่านหลวงปู่ฟั่นอาจาโรและเข้าพักที่วัดถ้ำขาม ในปีนั้น

  • พระอาจารย์บุญมี ธัมมะระโต (ตระกูลรัมย์)

    เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ณ บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลห้วยราช อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์

    อุปสมบท ฝ่ายมหานิกายได้ 7 พรรษาระหว่าง พ.ศ. 2511-2517

    ฝ่ายธรรมยุต 39 พรรษา พ.ศ. 2518-2557(ปัจจุบัน) ณ วัดสุทธิจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระธรรมโสภณ (ปัจจุบัน) เป็นอุปัชฌาย์ พระครูปลัดเมธาวัฒน์ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เทียน โชติญาโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยปฎิบัติกรรมฐาน ที่วัดสุทธจินดา พรรษา ที่ 1,

    พรรษาที่ 2-4 ที่วัดรังสีปาลิวัน บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

    พรรษาที่ 5-11 ที่วัดป่าบ้านตาด อยู่ฝึกฝนอบรมกับหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

    หลังจากนั้นได้กลับไปช่วยดูแลพระเณรช่วยเหลือหลวงปู่เขียน ที่วัดป่าบ้านโพนอีก 6 พรรษา เนื่องจากขณะนั้น หลวงปู่เขียน อาพาตป่วยเป็นอัมพาต และได้ไปช่วยพระอาจารย์วันชัย วิจิตโต บุกเบิกสร้างวัดป่าภูสังโฆได้ 3 พรรษา ต่อจากนั้น หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ให้มาช่วยก่อสร้างและดูแลวัดป่าศรัทธาถวาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มาจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 19 พรรษา ซึ่งรวมฝ่ายมหานิกาย 7 พรรษา ฝ่ายธรรมยุตกรรมฐาน 39 พรรษา ปัจจุบันอายุ 66ปี

  • พระอาจารย์ วิทยา สุวพา

    ชื่อ พระวิทยา ฉายา กิจฺจวิชฺโช นามสกุลเดิม สุวพานนท์ อายุ ๕๕ ปี พรรษา ๒๙ (นับรวมพรรษา ปี ๒๕๕๖) วิทยะฐานะทางธรรม นักธรรมชั้นเอก การศึกษาทางโลก จบปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบริหารการตลาด จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

    เกิดวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชา และ พระภาวนาพิศาลเถร (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบท, พระปัญญาภิมณฑ์มุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระศรีวิสุทธิญาณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

    ตำแหน่งทางการปกครองสงฆ์ปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดอยแสงธรรมญาณสัมปันโน และดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลแม่คะ (ธรรมยุต) มีเขตปกครอง ๓ อำเภอ คือ อำเภอฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ

    ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ วันที่ ๕ ธันวาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้น เจ้าคณะตำบล ชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูนิรมิตวิทยากร

    ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ วันที่ ๕ ธันวาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครู เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

  • พระมหาจักรายุธ สัมปัตโต

    นาม - พระมหาจักรายุธ นามสกุล - รบกล้า

    มคธฉายา - สมฺปตฺโต

    ความหมาย - ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วย(ธรรม)สมบัติ

    ชาติ - วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ตรงกับ - ๖ ฯ๙ ๒ ปีมะเส็ง ร.ศ. ๑๘๔

    ชาติภูมิ - บ.เอือดใหญ่ ต.เอือดใหญ่ อ.โขงเจียม (ปัจจุปัน อ.ศรีเมืองใหม่) จ.อุบลฯ

    วิทยฐานะทางโลก เตรียมประถมศึกษา รร.บ้านนาโพธิ์ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร

    พ.ศ.2513-14 - รร.บ้านเอือดใหญ่ ต.เอือดใหญ่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

    พ.ศ.2515-18 - ประถมศึกษาปีที่1-4 รร.บ้านศรีเมืองใหม่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ

    พ.ศ.2519-20 - ประถมศึกษาปีที่5-6 รร.ศรีเมืองใหม่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ

    พ.ศ.2521-26 - มัธยมปีที่1-6 รร.เบ็ณจะมะมหาราช อ.เมือง จ.อุบลฯ

    พ.ศ.2527-31 - ศิลปศาสตรบัณฑิต(ศศบ) มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ

    บรรพชา-อุปสมบท วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

    ตรงกับ - ๒ ฯ๑๔๘ ปีวอก ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

    พระอุปัชฌายะ- พระวิบูลธรรมภาณ (ประมูล รวิวํโส)

    สำเร็จอุปสมบทกรรม เวลา 15.39 น.

    วิทยฐานะทางธรรม สำเร็จนักธรรมชั้น ตรี-โท-เอก ณ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

    สำเร็จเปรียญธรรม 1-2,เปรียญธรรม 3-4 ณ สำนักเรียนวัดนรนาถ กทม.

    อาจาริยาจารย์ - พระวิบูลธรรมภาณ (ประมูล รุวิวํโส ป.ธ.4)พระผู้ให้กำเนินทางธรรม

    พระวิบูลธรรมภาณ (ทวยเทพ สุภาจาโร ป.ธ.4)พระผู้ให้แสงสว่างทางธรรม

    สมเด็จพระมหามุนีวงค์ (สนั่นจันทปัชโชตมหาเถร ปธ.9)พระผู้ให้ประธีปมครภาษา

    ปรัตยุบัน - เจ้าอาวาส-ประธานสงฆ์วัดป่าโนนขุมเงิน (ตั้งแต่พ.ศ.2548-ปัจจุบัน)

    ประธานโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดป่าโนนขุมเงิน

    เจ้าสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดสกลนครแห่งที่3 ( ธ. )

    สมณศักดิ์ - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎ์ ชั้นเอก ( จร.ชอ.) ในราชทินนาม ที่ พระครูธรรมญาณทิพยรัชต์ ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (5ธ.ค.54)

    ปณิธาน - จำเดิมแต่การอุปสมบท ได้ไปศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติกับครูบาอาจารย์

    กัมปัฎฐาน ในหลายสำนัก ขอมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า พระธรรม

    พระสงฆ์ สนองงานพระพุทธศาสนา ตลอดชีวิตจะหาไม่

  • พ.ญ. ดร. อมรา มลิลา

    เป็นศิษย์ฆราวาสคนสำคัญของพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ท่านได้รับรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา จากองค์การ สหประชาชาติ ในวันสตรีสากล ประจำปี 2549

    ท่านลาออกจากราชการในปีพ.ศ. 2518 และไปอยู่ปฎิบัติภาวนากับพระอาจารย์สิงห์ทอง ที่วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร ท่านเริ่มบรรยายธรรมในปีพ.ศ. 2522ที่ชมรมพุทธธรรมต่างๆ ของโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ธรรมสถาน จุฬาฯและสถานที่อื่นๆ พ.ญ. ดร. อมราสอนการปฏิบัติภาวนากับญาติธรรมมาแล้วหลายพันคน ได้บรรยายธรรมในเรื่องประโยชน์ของเจริญสติและการนำธรรมะมาช่วยแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์อมรา ได้อุทิศชีวิตของท่านในการให้คำปรึกษาและดูแลแก่ผู้ป่วยเรื้อรังหรือขั้นสุดท้ายในหลายโรงพยาบาล ท่านสอนผู้ป่วยที่กำลังทนทุกข์จากความเจ็บป่วยให้พิจารณาใจตน ให้อยู่กับปัจจุบัน "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" และพิจารณาแยกร่างกายออกจากอาการเจ็บป่วย